ประวัติความเป็นมา

ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพ (Health Information Systems- HIS) และ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสุขภาพ(Health Information and Communication Technology- HIT) เป็นองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งของระบบสุขภาพ(Health Systems) ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพของประเทศไทยมีหลากหลายระบบ แต่มีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์อันเนื่องมาจากข้อมูลสุขภาพที่อยู่ในระบบเหล่านี้ขาดการบูรณาการ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลสุขภาพซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญทั้งในกระบวนการดูแลสุขภาพส่วนบุคคล การให้บริการสุขภาพ และการวางแผนจัดทำนโยบายในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทางสุขภาพยังขาดมาตรฐาน ทั้งนี้มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้เกิดสถานการณ์เช่นนี้ สาเหตุเหล่านั้นได้แก่

  1. การขาดกลไกกลางที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดนโยบายด้านข้อมูลสุขภาพและมาตรฐานข้อมูลสุขภาพในระดับประเทศ
  2. การขาดการพัฒนามาตรฐานข้อมูลสุขภาพกลางในระดับชาติที่มีความครบถ้วนและครอบคลุม
  3. การขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านกระบวนการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพและมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ และ
  4. บุคลากรระดับต่างๆในระบบสุขภาพยังขาดความตระหนักถึงความความจำเป็นและประโยชน์ของการมีและใช้มาตรฐานข้อมูลสุขภาพระดับประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพทั้งในด้านกระบวนการและเชิงระบบ

นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพได้พยายามพัฒนาออกแบบและสร้างมาตรฐานข้อมูลสุขภาพของตนเองเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ประโยชน์เฉพาะของหน่วยงาน ส่วนใหญ่หวังผลระยะสั้น มักไม่คำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับหน่วยงานอื่น ทำให้ไม่เกิดความยั่งยืน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ทำให้ข้อมูลส่วนใหญ่ไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงการให้บริการระหว่างหน่วยบริการ การบริหารงานด้านสาธารณสุข และการพัฒนานโยบายระบบสุขภาพในระยะยาวได้ องค์การอนามัยโลกกล่าวว่าการพัฒนาระบบสุขภาพให้มีประสิทธิภาพจะต้องพัฒนาให้ครอบคลุมทั้ง 6 องค์ประกอบของระบบสุขภาพ ได้แก่

  1. การจัดบริการ
  2. กำลังคน
  3. ยาและเทคโนโลยี
  4. การคลัง
  5. ภาวะผู้นำ/ธรรมาภิบาล และ
  6. ข้อมูลสารสนเทศ

การพัฒนาด้านมาตรฐานข้อมูลสุขภาพเป็นรากฐานของการบูรณาการและการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศประเภทต่างๆ ระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพหลากประเภทที่สามารถทำงานร่วมกันได้ (Interoperability) มีความสำคัญต่อการสนับสนุนความต้องการและการพัฒนาระบบสุขภาพที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ระบบข้อมูลที่มีมาตรฐานสามารถทำให้เกิดการบูรณาการ (Integration) ข้อมูลสุขภาพอันจะมีผลอย่างสำคัญต่อประสิทธิภาพในการพัฒนาระบบสุขภาพโดยรวม จึงนับได้ว่ามาตรฐานข้อมูลสุขภาพเป็นกุญแจที่สำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพ

การประชุมคณะกรรมการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ครั้งทึ่ 2/2553 ในวันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553 มีมติเกี่ยวกับการพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพดังนี้คือ เห็นชอบให้มีการจัดตั้ง กลไกกลางพัฒนาและกำหนดมาตรฐานระบบข้อมูลของระบบสุขภาพ ในลักษณะงานวิจัยและพัฒนา โดยจัดตั้งเป็นแผนงานในสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ โดยมีทิศทางของการพัฒนาเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์คือโดยทำให้เกิดกลไกการพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพที่สามารถบูรณาการข้อมูลจากทุกแหล่ง ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืนของสวรส.

เป็นที่ชัดเจนว่าการพัฒนาระบบมาตรฐานข้อมูลสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีการวางแผนหาแนวทางดำเนินงานในระดับประเทศ เพื่อให้ประเทศมีระบบข้อมูลสารสนเทศสุขภาพที่มีการบูรณาการของข้อมูลและมีประสิทธิภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน การพัฒนากลไกที่ดำเนินการด้านนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จึงมีการอนุมัติให้จัดตั้งสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย โดยมีชื่อย่อ “สมสท.” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555