เกี่ยวกับ SNOMED-CT

ความเป็นมาของ SNOMED-CT การประยุกต์ใช้ในการพัฒนา TMT และข้อมูลทางคลินิก

 สำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) เครือสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากกรมบัญชีกลางให้พัฒนาบัญชีข้อมูลรายการยาและรหัสยามาตรฐานไทย (Thai Medicine Terminology) โดยมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นในการนามาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมการเบิกจ่ายยาที่มีราคาสูง การจัดสร้างรหัสมาตรฐานเพื่อให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ต้องมีกลยุทธ์ที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการบันทึกข้อมูลเห็นประโยชน์และสามารถใช้งานได้สะดวก โดยผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา
        ทีมผู้วิจัยได้ทำการค้นคว้าศึกษาระบบการสร้างคาศัพท์และรหัสมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ของประเทศต่างๆ พบว่า Systematized Nomenclature of Medicine – Clinical Terms (SNOMED-CT) เป็นระบบมาตรฐานศัพท์ทางการแพทย์สากลที่มีความสมบูรณ์มากที่สุดในปัจจุบันที่ใช้กับระบบคอมพิวเตอร์ นอกเหนือจากส่วนที่นำมาใช้เป็นฐานความรู้ในการพัฒนารหัสยา อาจนำไปใช้พัฒนาระบบข้อมูลเวชภัณฑ์ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ สามารถนำไปใช้ในการเก็บบันทึกข้อมูลทางคลินิก เป็นประโยชน์ในด้านการบริการ งานวิจัย ช่วยการตัดสินใจ (Clinical Decision Support) การควบคุมการใช้ทรัพยากร เสริมสร้างระบบความปลอดภัยในการให้บริการ (Patient Safety) สามารถเชื่อมโยงกับรหัสมาตรฐานที่ใช้กับการวินิจฉัยโรค (ICD 10) และรหัสหัตถการ (ICD 9 CM) ที่ใช้กันแพร่หลายในประเทศไทย
      SNOMED-CT เป็นระบบศัพท์ทางการแพทย์ที่มีความครอบคลุมการแพทย์ในสาขาต่างๆ รวมทั้ง ทันตแพทย์ศาสตร์ เภสัชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ศาสตร์ เป็นผลจากการรวม SNOMED-RT ซึ่งพัฒนาโดยวิทยาลัยพยาธิแพทย์สหรัฐอเมริกา (เริ่มพัฒนาฉบับแรกเมื่อ 1966) และ Clinical terms ที่พัฒนาโดย NHS สหราชอาณาจักร (เริ่มพัฒนาฉบับแรกเมื่อ 1983) นำมาปรับปรุงเป็น SNOMED-CT (ออกใช้ฉบับแรกเมื่อ 2002) มีการบำรุงรักษา ตรวจสอบแก้ไข ปรับปรุง พัฒนา อย่างเป็นระบบโดย International Health Terminology Standards Development Organisation (IHTSDO) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่ไม่แสวงผลกำไร ตั้งอยู่ที่กรุงโคเปนฮาเกน ประเทศเดนมาร์ค มีการปรับปรุงและประกาศใช้ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและกรกฎาคม ปัจจุบันมีการใช้ SNOMED-CT ในหลายประเทศและมีการแปลเป็นภาษาต่างๆหลายภาษา

      ขั้นตอนการนำมาใช้ในประเทศไทย ในเบื้องต้นควรมีการรวบรวมและสร้างกลุ่มผู้สนใจร่วมกันศึกษา เนื่องจาก SNOMED-CT มีความกว้างและซับซ้อนมาก
      ในประเทศไทยคุ้นเคยกับรหัสมาตรฐานการวินิจฉัยโรคคือ ICD (International Statistical Classification of Diseases and Related Health Problems) ซึ่งเดิมพัฒนามาจากระบบการรวบรวมรายงานเพื่อสรุปสาเหตุการตาย และต่อมาพัฒนาเพื่อใช้ในการรายงานการวินิจฉัยโรคและหัตถการ ICD เป็นระบบการให้รหัสที่เรียกว่า Classification มีการจำแนก จัดกลุ่ม สรุปเป็นรายงานสถิติที่เข้าใจง่าย ต่อมานาไปใช้ประโยชน์ในการจัดกลุ่มเพื่อคิดคำนวณต้นทุนทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย (Diagnosis Related Group) จัดทำเป็นหนังสืออ้างอิง แต่จะเห็นได้ว่า ICD ใช้ภาษาและวิธีการสรุปตีความแบบสถิติ (Statistical Terminology) ซึ่งต่างจากภาษาที่ใช้บันทึกข้อมูลทางคลินิก (Clinical Terminology) บุคลากรทางคลินิก ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรักษาพยาบาล และบันทึกข้อมูล ไม่คุ้นเคยกับภาษาทางสถิติที่ใช้ใน ICD มีความพยายามในการนำไปใช้โดยในสหรัฐอเมริกาดัดแปลงเป็นฉบับ Clinical Modification เพิ่มเติมรหัสโรคที่ไม่สมบูรณ์ลงไป มีการจัดทำคู่มือและหลักสูตรอบรมวิธีการให้รหัส อย่างไรก็ตามเห็นได้ว่าวิธีการที่ ใช้อยู่คือ การแปลงจากข้อมูลทางคลินิก (Clinical Information) ไปเป็นรหัส (ICD Code) อาศัยการตีความตามความเข้าใจและดุลพินิจของคน ซึ่งมีข้อเสียที่ไม่คงเส้นคงวา
       SNOMED-CT พัฒนาขึ้นโดยพยายามแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่พบจากการใช้ ICD เมื่อมีความก้าวหน้าทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ก็ช่วยให้มีการใช้ได้สะดวกขึ้น มีการรวบรวมจากข้อมูลทางคลินิกจากแหล่งต่างๆประมาณ 1 ล้านคำศัพท์ นำมาสรุปเป็นคำศัพท์ที่มีความหมายต่างกันประมาณ 400,000 คำศัพท์ การที่มีคำศัพท์มากมายหลากหลายก็มีข้อเสียในการตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข และทำความเข้าใจในรายละเอียด นอกจากนั้นไม่มีการทำเป็นเอกสารฉบับพิมพ์ แต่จัดทำเป็นไฟล์อิเลกโทรนิกส์ แรกๆเป็นแผ่น CD ปัจจุบันเป็นไฟล์ฐานข้อมูลที่ Download ได้จาก Website ซึ่งต้องมีความรู้ในการใช้ Relational database จึงจะสามารถศึกษาหลักการให้เข้าใจเบื้องต้น เพื่อจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป